13 ชวนรู้ก่อนไปดู Mortal Engines : สมรภูมิล่าเมือง
Mortal Engines หนังฟอร์มใหญ่ส่งท้ายปี ที่ใช้ทุนสร้างถึง 100 ล้านเหรียญ หนังดัดแปลงจากนิยายเยาวชนขายดี 4 เล่มจบ ของฟิลลิป รีฟส์ ที่ออกขายเมื่อปี 2001 และไปเข้าตามหาผู้กำกับปีเตอร์ แจ็คสัน จาก Lord of the rings จึงดำเนินโครงการดัดแปลง Mortal Engines มาเป็นหนังที่หวังว่าจะสานต่อได้จนจบครบทุกเล่ม ซึ่งปีเตอร์ แจ็คสันลงมือร่วมเขียนบท และนั่งเก้าอี้อำนวยการสร้าง และมอบหมายหน้าที่กำกับให้ คริสเตียน รีเวอร์ ผู้กำกับศิลป์ที่ร่วมงานกับเขามาแล้วยาวนาน และนี่คือ 14 เรื่องที่เราอยากให้คุณรู้ ก่อนไปรับชมปฐมบทของ Mortal Engines 5 ธันวาคม นี้พร้อมกัน
1. เหตุการณ์ในหนังจะเกิดในอนาคต 1,000 ปีข้างหน้าหลังโลกเกิดสงครามใหญ่ที่ชื่อ "สงคราม 60 นาที" อารยธรรมโลกสูญสิ้น มนุษย์ที่เหลือรวมตัวกันสร้างอาณาจักรเคลื่อนที่ แต่หัวใจหลักของ Mortal Engines จะอยู่ที่ "ลอนดอน" เมืองเคลื่อนที่ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความสูงถึง 7 ชั้น ผู้คนอาศัยอยู่นับล้านชีวิต
ด้วยความที่เป็นเมืองที่มีขนาดยักษ์ ลอนดอน ดำรงชีพด้วยการกลืนกินเมืองติดล้อที่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อลอนดอนเจอเมืองเล็กจะทำการล่าและดึงเมืองเล็กเข้ามาชำแหละแบ่งแยกชิ้นส่วน อาหารและทรัพยากรจะถูกนำไปเลี้ยงชาวเมือง ส่วนน้ำมันจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อนลอนดอน ด้วยวิถีการล่าแบบนี้ จึงทำให้ลอนดอนอยู่ในสถานะตัวร้ายของเรื่อง และมีกลุ่มคนที่อยากจะทำลายลอนดอนลงเสีย Mortal Engines จึงเป็นเรื่องราวความบาดหมางพยาบาทระหว่างลอนดอนและกลุ่มผู้ต้องการล้มล้าง
2.แม้ว่า Mortal Engines จะจัดอยู่ในกลุ่มนิยายเยาวชน แต่เนื้อหาภายในดูมีความลึกล้ำเหมาะกับกลุ่มผู้ใหญ่เสียมากกว่า ผู้กำกับคริสเตียน ริเวอร์ ให้ความเห็นว่า "Mortal Engines 4 เล่ม ใช้เวลาเขียนทั้งหมดเกือบ 8 ปี แต่กลุ่มคนอ่านน่าจะอยู่ในวัย 18 ปีขึ้นไป" และคริสเตียนเองก็ต้องการดึงเนื้อหาในส่วนของความเป็นผู้ใหญ่ในหนังออกมาให้เด่นชัดมากขึ้น เขาจัดการเปลี่ยนกลุ่มตัวละครนำให้อายุมากขึ้น ทั้ง ทอม แนตเวิร์ธตี้ และ เฮสเตอร์ ชอว์ จากในหนังสือที่ระบุไว้ว่า 14-15 ปี ให้กลายเป็น 19-23 อายุเท่า ๆ กับกลุ่มตัวละครนำใน สตาร์วอร์ส ไตรภาคแรก
3. เฮสเตอร์ ชอว์ ตัวละครหลักของเรื่อง และเป็นตัวละครที่ถูกดัดแปลงภาพลักษณ์ไปจากนิยายอย่างมาก ในนิยายบรรยายไว้ว่า เฮสเตอร์ ใส่ผ้าคลุมหน้าแทบจะทั้งเรื่อง เพราะเธอมีแผลเป็นหน้าเกลียดบนใบหน้า หนังสือบรรยายไว้ว่า "ปากของเธอบิดเคลื่อนไปอยู่ด้านข้าง จนดูเหมือนกำลังยิ้มเยาะอยู่ตลอดเวลา จมูกของเธอเหมือนถูกทุบหายไปจนเหลือแต่โคน และมีตาอยู่ข้างเดียว" ถ้าคงตามคำบรรยายจะเป็นตัวละครนำที่มีใบหน้าที่น่าเกลียด ซึ่งยากกับการทำการตลาดสำหรับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ มีการโต้แย้งกันมากในขั้นตอนเตรียมการสร้างถึงลักษณะของแผลเป็นบนหน้าเฮสเตอร์ ผลก็คือ เฮสเตอร์ ยังคงผ้าคลุมปิดหน้าไว้ มีดวงตาครบ 2 ข้าง แผลเป็นยังคงเด่นชัด แต่ไม่รุนแรงเท่าที่หนังสือบรรยายไว้ว่าถูกกรีดผ่านตา จมูก และปาก
4.สตรีเพศจะกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ "เรามีตัวละครหญิงเท่ ๆ เต็มไปหมดในหนัง ตามเส้นเรื่องหลักแล้ว ตัวละครหญิงเท่ ๆ จะมีบทบาทมากกว่าตัวละครชายอยู่มาก" ผู้กำกับคริสเตียน รีเวอร์ เปรยให้ฟัง นอกจากเฮสเตอร์ ชอว์ ที่เห็นกันบทโปสเตอร์และตัวอย่างหนังไปแล้ว อีกคนก็คือ "จิเฮ" นักบินหญิงในชุดแดง รับบทโดยแอนนา แฟง ก็เป็นอีกตัวละครหญิงที่มีบทบาทอย่างมากในหนัง
5. Mortal Engines มีกลิ่นอายของ Steampunk อยู่พอควร คำว่า "steampunk" แปลตรงตัวคือ "เครื่องจักรไอน้ำ" แต่ในวงการบันเทิง "steampunK' คือแนวทาง คุณลักษณะที่บรรยาย บรรยากาศ ธีม สภาพแวดล้อม แนวทาง ของนิยายวิทยาศาสตร์ ภาพยนตร์ หรือวีดีโอเกม ที่มักจะใช้กับเรื่องราวในแนว โลกอนาคตหลังสังคมล่มสลายจะด้วยการโจมตีของมนุษย์ต่างดาว ภัยพิบัติ หรือสงครามก็แล้วแต่ ลักษณะสำคัญของ สตีมพังค์ คือจะมีเครื่องจักรไอน้ำ เรือเหาะ สิ่งก่อสร้างและเครื่องแต่งกายตามวิกตอเรียน เหตุที่ต้องเป็นยุควิกตอเรียน ก็เพราะ เครื่องจักรไอน้ำ ถูกคิดค้นขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป หรือประมาณศตวรรษที่ 19 นั่นเอง
แม้ว่านิยายต้นฉบับจะบรรยายเรื่องราวไว้ในเชิง สตีมพังค์ เช่นกัน แต่ผู้กำกับคริสเตียน รีเวอร์ ก็มีความตั้งใจจะให้ Mortal Engines แม้จะมีความเป็นสตีมพังค์ แต่ก็อยากจะนำเสนอในทิศทางที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์จำเพาะ ที่คนดูจะต้องเซอร์ไพรส์กับภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
6. และมันก็จะไม่ใช่หนังแนว "ดิสโทเปียน" เช่นกัน "ดิสโทเปียน" หมายถึงโลกอนาคตหลังภัยพิบัติที่ถูกปกครองด้วยระบบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ ตรงกับข้ามกับคำว่า "ยูโทเปีย" ,ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้ร่วมเขียนบทและอำนวยการสร้างมาเสริมว่า "ในลอนดอนจะมีสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากซากเถ้าของสังคมยุคเก่า มันอิงองค์ประกอบจากโลกเดิมส่วนหนึ่ง แล้วพวกเขาก็สร้างคณะปกครอง กำหนดหลักปรัชญาและศาสนากันขึ้นมาเอง" ปีเตอร์ ยังเพิ่มเติมถึงบรรยากาศของ Mortal Engines ไว้ว่า "เราพยายามจะไม่ให้ภาพมันออกมาหม่น ไม่ให้เนื้อหาเคร่งเครียดน่ากลัวเกินไปนัก และคุมโทนสีให้ค่อนข้างสดใส ผมอยากจะให้ผู้ชมรู้สึกสนุกไปกับการเดินทางไปกับเมืองยักษ์ลอนดอน"
7. ในลอนดอนจะมีการผสมผสานของสังคมดั้งเดิมและรูปแบบสังคมที่คิดค้นกันขึ้นมาใหม่ ในเมืองยักษ์เคลื่อนที่นี้จะแบ่งออกเป็น 7 ชั้น พวกคนรวย และชนชั้นปกครองอย่าง แธดเดียส วาเลนไทน์ ผู้ปกครองลอนดอน และลูกสาวของเขาจะอยู่บนชั้นสูงสุดของลอนดอน ชนชั้นทั่วไปและพวกสมาคมต่างๆ จะอยู่ในชั้นกลางๆ ส่วนพวกคนจนและพวกทาสจะอยู่ในล่างของลอนดอน ในหนังเราจะได้เห็นการสอดแทรกสิ่งก่อสร้างในอดีต ซึ่งก็คือยุคปัจจุบันของเรานี่ใส่ลงไปในหนังด้วย อย่างเช่น วิหารเซนต์พอล ที่ถูกขุดพบ และ ทอม ตัวเอกของเรืองที่อยู่ในกลุ่มฮิสตอเรียน มีหน้าที่ขุดหาอารยธรรมเก่า ๆ มาศึกษาและเก็บรักษา ในหนังจะมีฉากที่ ทอม ขุดพบ รูปปั้นตัว "มิเนียน" อีกด้วย ซึ่งได้รับเกียรติเป็นตัวแทนอารยธรรมจาก 100 ปีที่แล้วเชียวนะ
8. อีกบทบาทที่น่าสนใจคือ "ไชรค์" รับบทโดย สตีเฟน แลง ที่รู้จักกันจากบทคุณลุงตาบอดจอมโหดใน "Don't Breath" ,ไชรค์ เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งหุ่นยนต์ เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดู เฮสเตอร์ ชอว์ มาตั้งแต่ยังเล็ก เดิมทีทีมงานตั้งใจจะใช้เทคโนโลยี CGI สร้างภาพไชรค์ขึ้นมาล้วน ๆ แต่สุดท้ายก็ตกลงเลือก สตีเฟน แลง มารับบทนี้ ไชรค์ ถูกบรรยายไว้ว่าเป็นศพที่ถูกคืนชีพด้วยเทคโนโลยี ครึ่งหนึ่งเป็นซากอีกครึ่งเป็นเครื่องจักร และถูกห่อหุ้มด้วยเกราะตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ทางทีมออกแบบก็อยากให้ภาพลักษณ์ของไชรค์ ดูเป็นคนที่มีเลือดเนื้อมากขึ้น เขาเลยพยายามศึกษาว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะเชื่อมโยงเข้ากับร่างกายมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง ผลสุดท้ายก็จะได้ใช้ ไชรค์ที่ดูมีชีวิตจิตใจเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวล ไม่อยากให้ออกมาเหมือนหุ่นสังหารแบบเทอร์มิเนเตอร์
9. จะเป็นหนังที่เราได้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ของพระเอก-นางเอก ที่ดำเนินไปอย่างน่าสนใจ เหตุเพราะเฮสเตอร์ ชอว์ เธอถูกเลี้ยงดูมาโดย ไชรค์ คนครึ่งหุ่นยนต์ ตลอดชีวิตเฮสเตอร์ แทบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนไหนเลย บวกกับมีอดีตที่หนักหนาสาหัส เมื่อเธอได้มาเจอกับทอม ซึ่งเป็นมนุษย์ที่เธอแทบไม่เคยได้สัมผัสด้วย ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงไม่ค่อยดำเนินไปอย่างปกติคนทั่วไปนัก
10. อีกตัวละครที่เป็นหัวใจหลักของเรื่องคือก็คือ "แธดเดียส วาเลนไทน์" รับบทโดย ฮิวโก้ วีฟวิ่ง ดาราเจ้าบทบาทที่หลายคนน่าจะจำกันได้จากบทเอเยนต์สมิธ จากไตรภาค The Matrix ในนิยายได้สร้างสรรค์ให้ แธดเดียส เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนอยู่มาก ซึ่งในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ก็ยังคงคุณลักษณะนี้ไว้ ปีเตอร์ แจ็คสัน ได้อธิบายถึงตัวตนของแธดเดียสไว้ว่า "เขาคือคนที่มีมองการณ์ไกล ในฐานะที่เขาคือผู้ปกครองลอนดอน ผู้คุมเมืองใหญ่ที่คอยกลืนกินเมืองเล็ก แธดเดียสรู้เสมอว่าวันหนึ่งเมืองเล็กก็จะหมดไป ไม่เหลือให้ลอนดอนได้กลืนกินอีกต่อไป แต่แธดเดียสก็มีแผนรับสถานการณ์นั้นไว้แล้ว"
11. จะไม่มีหมาให้เห็นในเรื่องนี้ แม้ในนิยายต้นฉบับ แคทเธอรีน วาเลนไทน์ ลูกสาวของแธดเดียส จะมีหมาป่าเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจ แต่หมาตัวนี้จะถูกตัดทิ้งไปในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ,ปีเตอร์ แจ็คสัน ให้เหตุผลว่า "ในเรื่องนี้เรามีการใช้ซีจีเยอะมากแล้วทั้งเมืองติดล้อ และเครื่องบิน การต้องใช้ซีจีเพิ่มอีกมาสร้างหมาป่า มันดูมากเกินไปล่ะ"
12. ฉากหนึ่งที่ทีมผู้สร้างตั้งใจนำเสนอมากคือ ฉากเครื่องบินโจมตีที่ทีมงานมั่นใจว่าจะสนุกและตื่นเต้นมาก โดยเฉพาะการออกแบบ "เจนนี่ ฮานิเวอร์" ชื่อเครื่องบินรบของ"จิเฮ" ทางทีมงานออกแบบเครื่องบินไว้หลายแบบมาก แต่ก็ต้องให้เข้ากับบุคลิกของจิเฮ เจ้าของเครื่องลำนี้ ,รา วินเซนต์ "ผู้กำกับศิลป์ กล่าวถึงฉากการต่อสู้ระหว่างเครื่องบินของฝ่ายล้มล้างลอนดอน และเครื่องบินของลอนดอนว่า "มันเป็นเครื่องบินโจมตี แต่มันก็ลอยตัวได้ด้วยแก๊สฮีเลียม ผมก็อยากให้มันดูลอยตัวได้เป็นธรรมชาติ และเคลื่อนไหวไปในอากาศได้สมจริง และในฉากรอบก็ต้องการให้ภาพออกมารวดเร็ว ดุเดือดสมจริง"
13. ทีมงานฝ่ายศิลป์ตั้งใจสร้างทุกอย่างที่ประกอบฉากขึ้นมาให้สมจริงมากที่สุด มีการสร้างฉากขึ้นมาถึง 70 ฉาก และเกือบทุกๆ อย่าง ทุกๆ ฉากถูกสร้างขึ้นมาในสัดส่วนขนาดจริง ไม่ว่าเครื่องบิน เจนนี่ ฮานิเวอร์ , ด้านหน้าของวิหารเซนต์พอล , บ้านของไชรค์ และทางเข้าลอนดอน
อ่านแล้วยิ่งทำให้รู้ลึกถึงความตั้งใจของทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังกล้องนะครับ อีกทั้งการมีบทบาทอย่างมากของปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้อยู่เบื้องหลังหนังอมตะอย่าง The Lord Of The Rings และ The Hobbit แม้เรื่องนี้ปีเตอร์จะไม่ได้ลงมือ
กำกับเอง แต่ก็ดูแลควบคุมงานอย่างใกล้ชิด ยิ่งเป็นจุดที่รับประกันได้ถึงความประณีตตั้งใจของทีมงาน และความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ เตรียมพบกับ Mortal Engines ได้พร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 5 ธันวาคม นี้
ตัวอย่างภาพยนตร์