สัมผัสสภาพจิตใจของตัวละครผ่านทางเสื้อผ้า ใน Phantom Thread

Movie News20 กุมภาพันธ์ 2561

              ปัจจัยสำคัญในการเนรมิต Phantom Thread สู่จอเงินอยู่ที่การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกาย ที่จำเป็นต้องอาศัยความสมจริงและความวิจิตรบรรจงในระดับของนักออกแบบลอนดอนแห่งยุคนั้นอย่างฮาร์ดี้ เอมีส แอนเดอร์สันไม่สนใจการยืมหรือเช่าเสื้อผ้าวินเทจจากพิพิธภัณฑ์หรือร้านเครื่องแต่งกายแต่อย่างใด สำหรับมาร์ค บริดเจส (Inherent Vice, The Master, There Will Be Blood) ผู้ร่วมงานขาประจำของผู้กำกับ แอนเดอร์สัน การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นมาใหม่เป็นทางออกเดียวสำหรับเรื่องราวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การตัดเย็บเสื้อผ้า “พอเราตัดสินใจที่จะสร้างแบบดีไซน์ออริจินอลขึ้นมา มันก็ไม่มีการหันหลังกลับครับ” บริดเจสกล่าว "จากจุดนั้น เราทำได้แค่เดินหน้าลูกเดียวครับ"

ภารกิจและคำสั่งของบริดเจสคือการเล่าเรื่องราวผ่านทางเสื้อผ้า เสื้อผ้าของเขาจะต้องสะท้อนถึงสภาพจิตใจของตัวละครให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตัวนักออกแบบเครื่องแต่งกายมากประสบการณ์ ผู้ได้ทำงานกับแอนเดอร์สันในภาพยนตร์ทุกเรื่องนับตั้งแต่ Hard Eight ในปี 1996 ได้ต่อต้านการใช้นักออกแบบเพียงคนเดียวเป็นแรงบันดาลใจสำหรับงานสร้างสรรค์ของเขา แต่เขากลับค้นคว้างานออกแบบจากยุคสมัยนั้น และได้สร้างเครื่องแต่งกายที่โดดเด่นขึ้นมา 50 ชุดสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมถึงชุดออริจินอลเก้าชุดที่ถูกจัดแสดงในซีเควนซ์แฟชันโชว์ฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย



         เขาเริ่มต้นการค้นคว้าด้วยการเปิดดูโว้คและฮาร์เปอร์ส บาซาร์ฉบับวินเทจ ก่อนที่จะดูเซ็กเมนต์ต่างๆ ของคลังข้อมูลบริติจ พาเธทางยูทูป ที่นำเสนอฟุตเตจข่าวจากยุคนั้น บริดเจสได้พบกับแอนเดอร์สันและเดย์-ลูอิสหลายครั้งเพื่อกำหนดรูปแบบสไตล์ของเฮาส์ ออฟ วู้ดค็อก "เราใช้เวลาทั้งวันเพื่อกำหนดสีสันและเท็กซ์เจอร์ของเฮาส์ครับ" บริดเจสกล่าว "เราเลือกสีเข้มที่รุ่มรวยและลูกไม้จำนวนมาก กับเท็กซ์เจอร์ที่ย้อนแย้งกันอย่างกำมะหยี่และซาตินในเสื้อผ้าบางชุด"



          บริดเจสได้สรรหาผ้าวินเทจจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงลอสแองเจลิส ปารีส กรุงโรมและลอนดอน แต่เสื้อผ้าจำนวนมาก แม้จะหรูหราและตรงกับยุคสมัย กลับจืดจางไปกับกาลเวลาและการสวมใส่ "เราค้นพบตั้งแต่แรกแล้วว่าเราจะต้องตัดเย็บเสื้อผ้ามากกว่าที่เราคิดเอาไว้ตอนแรก" บริดเจสกล่าว "ผ้าไหมเก็บรักษาไว้ได้เพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งแม้ว่าเสื้อผ้าชุดนั้นจะถูกรักษาไว้ดีแค่ไหนก็ตาม เวลาเดินหน้าไปและพวกตัวมอดก็งานยุ่งเชียวล่ะครับ เสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่เราหามา เราจะใช้มันเป็นแรงบันดาลใจหรือทำความเข้าใจกับเทคนิคการตัดเย็บของมัน ถ้าเราจำลองชุดไหนขึ้นมาล่ะก็ เราก็พยายามจะจำลองเนื้อผ้านั้นขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับชุดเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"



           Phantom Thread เล่าเรื่องของช่างตัดเสื้อผู้โด่งดัง เรย์โนลด์ส วู้ดค็อก (แดเนียล เดย์-ลูอิส) และน้องสาวของเขา ซิริล (เลสลีย์ แมนวิลล์) เป็นผู้อยู่ศูนย์กลางแฟชันอังกฤษ พวกเขาตัดเย็บชุดให้กับเชื้อพระวงศ์ ดาราหนัง ทายาทสาว หนุ่มสาวสังคม เด็กสาวแรกแย้มที่เพิ่งเปิดตัวในแวดวงสังคมและท่านผู้หญิงทั้งหลายด้วยสไตล์ที่โดดเด่นของเฮาส์ ออฟ วู้ดค็อก หญิงสาวมากหน้าหลายตาผ่านมาและผ่านไปในชีวิตของวู้ดค็อก พวกเธอเป็นทั้งแรงบันดาลใจและเพื่อนคู่ใจให้กับชายผู้พึงพอใจกับการเป็นโสดของตัวเอง จนกระทั่งเขาได้เจอกับหญิงสาวผู้เข้มแข็ง อัลมา(วิคกี้ ครีปส์) ผู้อยู่คู่กับชีวิตของเขาในฐานะแรงบันดาลใจและคนรัก เขาพบว่าชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยวางแผนเอาไว้อย่างดีและอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาต้องสั่นคลอนด้วยความรัก ด้วยผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา พอล โธมัส แอนเดอร์สันได้นำเสนอภาพสะท้อนที่กระจ่างชัดของศิลปินผู้อยู่ระหว่างการสร้างสรรค์ผลงานและหญิงสาวที่ทำให้โลกของเขาหมุนไป เข้าฉาย 22 กุมภาพันธ์นี้ ในโรงภาพยนตร์

 

ตัวอย่างซับไทย