ผู้กำกับอเล็กซานเดอร์ อาจา เผยเบื้องหลังการสร้างภาพไอ้เข้ใน Crawl
การกลับมาประกาศศักดาอีกครั้งของ อเล็กซานเดอร์ อาจา ผู้กำกับผู้เชี่ยวชาญหนังสยองขวัญระดับแถวหน้าของวงการ เขาเป็นเจ้าของผลงาน Haute Tension (สับ สับ สับ) หนังสุดโหดขวัญใจคอหนังสยองขวัญเมื่อปี 2003 และ The Hill Have Eyes เมื่อปี 2006 ก่อนหน้านี้ก็เคยทำหนังสยองเกี่ยวกับสัตว์ร้ายในน้ำมาแล้วกับ Piranha 3d ในปี 2010 วันนี้อเล็กซานเดอร์ อาจา จะพาเราลงไปพบกับความลุ้นระทึกกับสัตว์กินคนอีกครั้งใน Crawl ที่รอบนี้จะเล่าเรื่อง เฮลีย์ นักว่ายน้ำสาวสวยที่ต้องขับรถฝ่าพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 กลับบ้านเกิดในฟลอริดา เพื่อพาพ่อที่อยู่บ้านคนเดียวออกจากเมือง แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าพ่อติดอยู่ในบ้านกับจระเข้ตัวเขื่อง ที่จ้องเขมือบทุกคนที่เข้ามาในบ้านหลังนั้น หนังที่มาในพลอตที่กำหนดด้วยการไล่ล่าระหว่างคนที่ต้องติดอยู่ในพื้นที่จำกัด แล้วต้องหาทางเอาชีวิตรอดจากฆาตกรโรคจิต ปีศาจสยอง หรืออมนุษย์จอมเชือด มักจะเป็นหนังที่ชวนลุ้นระทึกแทบทุกวินาทีเสมอไป และ Crawl ก็จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้เราลุ้นไม่ติดเก้าอี้อีกครั้ง กับคะแนน 83% จากนักวิจารณ์ 135 ท่านเป็นตัวการันตี
ผู้กำกับอเล็กซานเดอร์ อาจา
อย่างที่หลายคนได้ชมตัวอย่างไป หนังจะมีตัวละครหลักเพียงเฮลีย์ และ เดฟ คุณพ่อของเธอ กับเจ้าจระเข้ยักษ์เท่านั้นที่เป็นตัวละครหลักในหนังเรื่องนี้ นักแสดงรายอื่นๆ ก็โผล่มาเป็นเหยื่ออันโอชะให้ไอ้เข้อิ่มท้องระหว่างทางเท่านั้น เรื่องนักแสดงไม่ใช่งานยากสำหรับการสร้างหนังประเภทนี้ แต่หัวใจของเรื่องก็คือ ไอ้เข้ ตัวร้ายหลักของเรื่อง ที่จะต้องทำออกมาให้น่ากลัวสมจริง ให้คนดูผวาทุกครั้งที่มันปรากฏกายออกมาให้ได้ ในเรื่องนี้ย่อมสร้างความสงสัยจากผู้ชมว่าผู้กำกับใช้เทคนิคอะไรในการสร้างตัวไอ้เข้ขึ้นมาบนจอภาพยนตร์ให้สมจริง ในวันที่เทคนิคการสร้างภาพสัตว์ อสุรกาย บนจอนั้นมีมากมายหลายเทคนิควิธีการ ทั้งหุ่นชัก หุ่นจำลอง โมชันแคปเจอร์ หรือการใช้เทคนิค CGI
และทางเลือกของอเล็กซานเดอร์ อาจา ก็คือ "CGI" ล้วนๆ "ในหนังน่าจะมีแค่ 4 หรือ 5 ช็อตเท่านั้นล่ะ ที่ใช้หุ่นจระเข้ ตอนท้ายเรื่อง" อเล็กซานเดอร์เผยถึงเทคนิคผสมในการสร้างภาพจระเข้ "ผมใช้หางจำลองในฉากที่เห็นหางส่ายไปมาในน้ำ ใช้หัวจำลองในฉากที่หัวมันโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วก็มีช็อตที่ถ่ายผ่านปากไอ้เข้จากข้างในออกมาเห็นตัวเฮลีย์ผ่านเขี้ยวของมัน ฉากเหล่าเนี้ยที่ผมใช้หุ่นจำลองมาช่วย รวมไปถึงลูกๆ จระเข้ด้วย นอกเหนือจากฉากเหล่านี้คือ CGI ทั้งหมด ซึ่งผมต้องวางแผนตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการสร้างแล้ว เพื่อที่จะกำหนดการเคลื่อนไหว ความเร็ว ความดุร้ายของมัน การใช้หุ่นบังคับไม่สามารถทำแบบนี้ได้"
แม้ว่าคาแรกเตอร์เด่นๆ ในหนังฮอลลีวู้ดก็ล้วนสร้างด้วยเทคนิคหุ่นจริงที่ใช้กลไกลบังคับ หรือที่เรียกว่า อนิเมทรอนิกส์ อย่างเช่น หุ่นยนต์ใน Real steel (2011) , จาร์จาร์ บิงก์ ใน Star Wars: Episode I - The Phantom Menace (19999) หรือเหล่าไดโนเสาร์ทั้งหลายในหนัง Jurassic Park แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกของอเล็กซานเดอร์ อาจา ซึ่งเขาก็ให้เหตุผลว่า "ผมไม่เคยคิดที่จะใช้อนิเมทรอนิกส์เลยด้วยเหตุผลง่ายๆ ถ้าเราทำงานกับหุ่นอนิเมทรอนิกส์ มุมที่จะถ่ายทำก็จะถูกจำกัด เพราะต้องคอยหลบรอยต่อของตัวหุ่น และคนควบคุมหุ่น ผมต้องการภาพรอบๆ ตัวมัน อยากได้ภาพมันทั้งตัวกำลังคืบคลานไปหาเหยื่อ อยากให้คนดูสัมผัสได้ว่ามันมีตัวตนจริงๆ อยู่ที่นั่นกับนักแสดง ซึ่งผมจะไม่ได้ภาพแบบนี้ถ้าใช้หุ่นอนิเมทรอนิกส์ เพราะมุมกล้องจะถูกจำกัด"
เมื่อผู้กำกับอธิบายชัดเจนว่า ภาพของจระเข้ที่เราจะได้ชมกันในหนังสร้างขึ้นด้วย CGI ล้วนๆ แต่ก็ใช่ว่าทีมงานจะโยนภาระไปให้ฝ่ายเทคนิคภาพพิเศษรับผิดชอบเสียทั้งหมด หลายๆ ฉากก็ต้องวางแผนตั้งแต่ตอนถ่ายทำ มีทั้งหุ่น สตันท์แมน มาช่วยเสริมความสมจริงในระหว่างถ่ายทำ "เมื่อทุกภาพของไอ้เข้เป็น CGI ก็ไม่ใช่ว่าในกองถ่ายเราจะไม่ต้องทำอะไรเลยนะครับ ที่จริงแล้วเราทำเยอะเลยล่ะ เราต้องสร้างน้ำกระเซ็นให้สมจริง เราทำหัวไอ้เข้จำลองเสียบไม้เพื่อช่วยให้นักแสดงตอบโต้ตอนถ่ายทำ ฉากไอ้เข้พุ่งลงน้ำเราก็ให้สตันท์แมนใส่ชุดเขียวแล้วก็กระโดดลงน้ำเพื่อให้ได้ภาพผิวน้ำตอนไอ้เข้กระทบได้สมจริง การถ่ายทำในฉากจริงแบบนี้สำคัญมากที่จะช่วยเสริมให้ภาพ CGI สมจริงมากขึ้น"
พบกับภาพสมจริงของจระเข้โหดใน Crawl จากสุดยอดผู้กำกับสยองขวัญพร้อมกัน 15 สิงหาคม นี้
เช็ครอบฉายคลิกเลย >> https://bit.ly/2P4Km9A
ตัวอย่างภาพยนตร์