ลืมไปได้เลยว่านี่คือหนังอนิเมชัน เพราะวิลล์ กลัคจะทำให้ทุกอย่างใน Peter Rabbit สมจริงที่สุด
"ผมอยากให้ผู้ชมลืมไปเลยว่านี่เป็นหนังอนิเมชันครับ" ผู้กำกับวิลล์ กลัคพูดถึงแนวทางการกำกับของเขา "หวังว่าหลังจากไม่กี่นาทีแรกของการทำตัวให้เคยชินกับความจริงที่ว่าพวกสัตว์พูดได้และสวมเสื้อผ้าได้ ผู้ชมจะรู้สึกว่ามันสมจริงน่ะครับ"
อนิเมชันของเรื่องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการสร้างซาเรห์ นัลแบนเดี้ยน และบริษัทแอนนิมอล โลจิคของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อนิเมชันยอดนิยมเรื่อง The Lego Movie (และหนังภาคแยก The Lego Batman Movie) และ Happy Feet นัลแบนเดี้ยนกล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า "สำหรับวิลล์ ตัวละครอนิเมชันทุกตัวใน PETER RABBIT มีตัวตนเหมือนกับตัวละครที่รับบทโดยโรสและดอมห์นอลครับ ในตอนที่เรามองอนิเมชัน เราก็มีคำถามแบบเดียวกันสำหรับเขาอย่างที่นักแสดงไลฟ์แอ็กชันจะถาม 'คุณอยากให้เบนจามิน บันนีรู้สึกอย่างไร คุณอยากให้เขาถ่ายทอดอารมณ์ออกมาอย่างไร' มันเป็นเรื่องของการแสดงครับ เรามองตัวละครของเราว่าเป็นตัวละครจริงๆ ดังนั้น บทสนทนาของเรากับวิลล์ก็อยู่ที่ระดับนั้น สำหรับอนิเมเตอร์ของเรา มันเป็นเรื่องวิเศษสุดเพราะวิลล์ไม่ได้ให้ข้อกำหนดเรื่องไหนๆ ทั้งนั้น แต่มันก็เป็นความท้าทายอย่างมากด้วย นี่อาจจะเป็นหนังที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่พวกเราสร้างกันมาที่แอนนิมอล โลจิคเลยล่ะครับ"
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงกระต่ายเท่านั้น แต่ยังมีหมู แบดเจอร์ นกกระจอก และ ฯลฯ ซึ่งแต่ละตัวมีหนัง หรือขนที่แตกต่างกัน บางตัวสวมเสื้อผ้าที่เปรอะเปื้อน ฉีกขาดและเปียกแฉะ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ลิซซี การ์ดิเนอร์ ไม่เพียงแต่ดูแลเสื้อผ้าสำหรับนักแสดงไลฟ์แอ็กชันเท่านั้น แต่เธอยังถูกนำตัวมาทำงานในช่วงเริ่มแรกของการออกแบบเพื่อช่วยตัดสินใจว่าสัตว์อนิเมชันพวกนี้จะสวมเสื้อผ้าอะไรด้วย "มันเป็นความท้าทายค่ะ เพราะเราพยายามจะรักษาวิสัยทัศน์ของเบียทริกซ์เอาไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้งานของเธอทันสมัยขึ้นด้วย ยิ่งเราล้วงลึกเข้าไปมากเท่าไหร่ เราก็ตระหนักว่าทุกการตัดสินใจของเธอจะมีที่มาจากเหตุผลดีๆ เสมอค่ะ"
ทีมงานได้ใช้งานกองถ่ายอนิเมชันและไลฟ์แอ็กชันไปพร้อมๆ กันในระหว่างการถ่ายทำหลัก โดยที่มือลำดับภาพจะทำงานไประหว่างที่ภาพยนตร์ถ่ายทำอยู่ และนักวาดภาพสตอรีบอร์ดก็จะวาดทับฉากที่ผ่านการลำดับภาพแล้วเพื่อแสดงให้เห็นว่าสัตว์ต่างๆ จะอยู่ตำแหน่งไหน ด้วยวิธีการนี้เอง ทำให้กลัครับรู้ถึงภาพยนตร์ที่เขาได้ถ่ายทำไปและความเป็นไปได้สำหรับอนิเมชันด้วย ซึ่งมันทำให้เขาค้นพบข้อดีและข้อเสียของอนิเมชัน นั่นคือคุณสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้เสมอ "ในไลฟ์แอ็กชัน คุณไม่มีอะไรแบบนั้น พอคุณถ่ายทำเสร็จ ฉากนั้นก็จบแล้ว แต่ในอนิเมชัน ใครๆ ก็สามารถพูดได้ว่า 'ไอเดียนี้น่าจะพัฒนาฉากนั้นได้นะ' และแม้ว่าอนิเมเตอร์จะกำลังนอนกันอยู่ ผมก็ต้องรีไรท์งานใหม่" เขากล่าว พลางตั้งข้อสังเกตว่าอนิเมเตอร์พร้อมสำหรับงานเสมอ "มีคนกว่า 400 คนที่ทำงานกับปีเตอร์ แร็บบิท พวกเขาทุกคนต่างศึกษาส่วนเล็กๆ ในหนังของพวกเขาและคิดไอเดียที่วิเศษที่สุดขึ้นมา ‘อะไรจะเกิดขึ้นถ้า’ เป็นส่วนที่สนุกของหนังเรื่องนี้ครับ"
เตรียมตัวฮาและกระโดดโลดเต้น รับความสุข ความสนุก ไปกับ PETER RABBIT 5 เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
ตัวอย่างภาพยนตร์