ทีมแอนิเมชัน Frozen II พิถีพิถันกับการแสดงอารมณ์ของตัวละครมากขึ้นกว่าเดิม
"ถ้าคุณสามารถสร้างสรรค์ตัวละครให้น่าเชื่อถือดูมีตัวตนมากขึ้นแค่ไหน คนดูก็จะสัมผัสความรู้สึกจากตัวละครมากขึ้นเท่านั้น"
นี่คือความมุ่งมั่นของ โทนี่ สมีด หนึ่งในสองหัวหน้าทีมแอนิเมเทอร์ของ Frozen II ที่ยังคงกลับมาร่วมงานกับเบ็กกี้ บรีส ในภาค 2 นี้ ที่นับว่าเป็นงานท้าทายกว่าเดิม เพราะภาคแรกประสบความสำเร็จอย่างเกินคาดหมาย
หลังเว้นช่วงห่างจากภาคแรกไป 6 ปี วิทยาการของงานแอนิเมชันก็พัฒนาไปมากขึ้น ซึ่งแอนิเมเทอร์คู่หูก็ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างมาก
"อารมณ์คือความรู้สึกที่อยู่ภายใน ที่เราจะต้องหาทางถ่ายทอดมันออกมาผ่านท่าทางและสีหน้า นอกเหนือจากนั้นก็เป็นเรื่องของท่าทาง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวทุกอย่าง ที่รวมอยู่ในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้สึก"
โทนี่ สมีด และ เบ็คกี้ บรีส 2 หัวหน้าทีมแอนิเมเทอร์
ทั้ง โทนี่ สมีด และเบ็คกี้ บรีส ก็นับว่าเป็นลูกหม้อเก่าแก่ของดิสนีย์ ทั้งคู่เริ่มงานกับดิสนีย์มาตั้งแต่ 23 ปีก่อน สั่งสมประสบการณ์และความรู้มาจนแข็งแกร่งพอที่ทางสตูดิโอมั่นใจพอที่มอบหมายให้ทั้งคู่รับหน้าที่กุมบังเหียนโพรเจกต์ใหญ่อย่าง Frozen ภาคแรกเมื่อปี 2013 แล้วทั้งคู่ก็พิสูจน์ให้ได้เห็นว่าทางสตูดิโอ ตัดสินใจไม่ผิดที่มอบหมายหน้าที่สำคัญนั้นให้ แล้ววันนี้ทั้งคู่กำลังจะพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งกับก้าวที่ 2 ของพวกเขา โทนี่และเบ็คกี้ เผยว่าพวกเขาพึงพอใจมากที่ได้เห็นความอุตสาหะอย่างยาวนานสำเร็จเสร็จสิ้นจนได้ และพร้อมฉายในอเมริกาวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้แล้ว
โทนี่ และเบ็คกี้ ยังกล่าวขอบคุณทีมงานทุกคน กล่าวว่าความสำเร็จของ Frozen ไม่ได้มาจากพวกเขาทั้งคู่เท่านั้น แต่มาจากจินตนาการของทีมงานทั้งหมด ที่ร่วมกันเพียรพยายามจนสามารถนำพาตัวละครทั้งหมดให้ออกมามีชีวิตโลดแล่นบนจอหนังได้สำเร็จ พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจที่ Frozen สามารถไปได้ไกลเกินคาด ถึงขั้นไปคว้าออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมมาได้ด้วย ผ่านมา 6 ปีแล้ว พวกเขาก็ยังเห็นเด็กๆ แต่งตัวเป็นเอลซ่าแล้วร้องเพลงจากหนังอยู่เลย วันนี้ทีมงานทั้งหมดก็ได้กลับมากันพร้อมหน้าแล้วในผลงานภาคต่อที่พร้อมจะพาผู้ชมไปร่วมกันค้นหาที่มาของพลังลึกลับของเอลซากัน
ส่วนหนึ่งของทีมงานแอนิเมเทอร์ ดิสนีย์ ที่ภาคภูมิใจกับออสการ์ สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมจาก Frozen
เรามาคุยกับเบ็คกี้ บรีส บ้าง ในเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างตัวละครใน Frozen II
"เป้าหมายสำคัญที่สุดของเราคือต้องแสดงให้เห็นว่าตัวละครเหล่านี้มีความคิดและความรู้สึก นักแอนิเมเทอร์ที่เก่งๆ จะสามารถดึงความรู้สึกของตัวละครออกมาได้ แค่ตัวละครปรายตาแค่แวบเดียวก็ต้องสื่อความหมายให้ได้ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่าเนี้ยล่ะล้วนทำให้ตัวละครดูมีชีวิตขึ้นมาได้"
ถ้าอ่านที่ โทนี่ สมีด และเบ็คกี้ บรีส พยายามอธิบายมา จะเห็นได้ว่าทั้งคู่พยายามสื่อถึงความตั้งใจและอุตสาหะของเหล่าทีมงาน แต่เพื่ออธิบายเป็นภาพให้เห็นชัดขึ้นว่าพวกเขาทุ่มเทขนาดไหน ก็จะอธิบายง่ายๆ ตามนี้ว่า ในกระบวนการสร้างภาพของ Frozen II ขึ้นมานั้น ทีมงานแอนิเมเทอร์แต่ละคน จะมีต้องทำหนังให้สำเร็จได้คนละ 1 วินาทีต่อวัน ตามค่าความละเอียดปกติของภาพยนตร์ในปัจจุบันคือจะมี 24 ภาพต่อวินาที ความยาวเฉลี่ยของหนังทั่วไปคือ 90 นาที นั่นหมายความว่ากว่าหนังจะสำเร็จพวกเขาต้องเรนเดอร์ภาพให้สำเร็จเป็นจำนวนกว่า 130,000 ภาพ กิจวัตรในระหว่างที่สร้าง Frozen II ทีมงานจะต้องประชุมร่วมกันวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อหาข้อสรุปของหนังในแต่ละความยาวที่ 40 วินาที
แม้ว่าวิทยาการของเทคโนโลยีในการสร้างแอนิเมชันจะพัฒนาไปไกลมากแล้ว อย่างไรก็ตาม แอนิเมเทอร์แต่ละคนก็ยังต้องใช้วิธีการวาดภาพด้วยมือในขั้นตอนเริ่มต้นอยู่ดี วิธีสเก็ตช์ภาพด้วยมือยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่แอนิเมเทอร์จะใช้ในการออกแบบท่าทางให้ตัวละคร ว่าในแต่ละฉากตัวละครควรจะแสดงทำท่าอย่างไร แสดงออกอย่างไร การสร้างสรรค์ตัวละครแอนิเมชัน มีกระบวนการที่ละเอียดซับซ้อนกว่าการสร้างหนังที่ใช้คนแสดงมากนัก ดาราที่แสดงในแต่ละฉาก พวกเขาเพียงแค่แสดงออกทางสีหน้าและท่าทางไปตามสัญชาตญาณ บางกิริยาก็ทำไปโดยไม่รู้ตัวเผื่อสื่อสารอารมณ์ในแต่ละฉาก แต่ในการสร้างหนังแอนิเมชัน แอนิเมเทอร์ต้องเป็นคนคิดแ กำหนดสีหน้าและท่าทางให้ทุกตัวละครอย่างชัดเจน พวกเขาละเอียดถึงขั้นใส่การระบบการหายใจให้ตัวละคร ซึ่งคนดูแทบจะไม่ได้สังเกตเห็น แต่ถ้าพวกเขาเพิกเฉยกับจุดนี้ คนดูก็จะรู้สึกล่ะ ว่ามีบางอย่างผิดปกติ
มาถึง 2 ผู้กำกับของหนังบ้าง คริส บัค และเจนนิเฟอร์ ลี ทั้งคู่เองก็ให้ความสำคัญกับการหายใจของตัวละครของพวกเขาเช่นกัน เจนนิเฟอร์ ลี ย้อนเล่าให้ฟังว่าเธอให้ความสำคัญกับจุดนี้มาตั้งแต่ภาคแรกแล้ว
"เราต้องแสดงให้เห็นว่าตัวละครกำลังหายใจอยู่ ยิ่งโดยเฉพาะตอนร้องเพลง"
นักข่าวได้ถาม 2 ผู้กำกับในฐานะคนที่ไม่ได้รู้ลึกในขั้นตอนการสร้างหนังแอนิเมชันว่า ทำไมไม่ใช้วิธีง่าย ๆ ด้วยการ Copy แล้วก็ Paste ท่าทางการเดิน การหายใจ ใส่ไปในทุกตัวละคร ทำไมต้องลำบากเขียนขึ้นใหม่ในทุกๆ ตัว คำตอบของ 2 ผู้กำกับก็คือ ถ้าจะแสดงให้เห็นว่าเหล่าตัวละครนั้นดูมีชีวิตสมจริง ก็ต้องกำหนดบุคลิกท่าทางเฉพาะของแต่ละตัวที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
"เอาแค่ 2 ตัวละครหลัก ก็มีบุคลิกแตกต่างกันมากแล้ว เอลซาก็จะเดินไม่เหมือนแอนนา"
โทนี่ สมีด อธิบายถึงบุคลิกของ 2 ตัวละครหลัก
เบ็กกี้ บรีส เสริมต่อว่า
"เอลซา จะเป็นสาวเรียบร้อยสงวนท่าทีมาก เธอจะไม่ค่อยขยับเขยื้อนเนื้อตัวมากนัก นอกจากตอนที่จะบู๊เท่านั้น ผิดกับแอนนาเลย รายนี้จะออกท่าออกทางสุดๆ ในกิจกรรมเดียวกันเอลซาจะขยับแค่นิดเดียว การเคลื่อนไหวร่างกายเหล่าเนี้ยจะแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละตัวละคร"
เอลซา ในเพลง Into The Unknown
ความยากลำบากในการสร้างสรรค์ตัวละครให้มีชีวิตยังไม่จบ ยังมีขั้นตอนที่ยากมากมาเล่าให้ฟังอีก นั่นก็คือการสรรหาทีมงานแอนิเมเทอร์ เพราะกว่าจะสร้างสรรค์ Frozen II ให้สำเร็จได้นั้น ต้องใช้ทีมงานจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างแค่ฉากที่เอลซาร้องเพลงนั้น ต้องใช้แอนิเมเทอร์ถึง 75 คน อยู่ภายใต้การควบคุมของหัวหน้าทีม โดยที่หัวหน้าทีมจะทำหน้าที่แจกจ่ายงานปลีกย่อยให้แต่ละคน โดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคนนั้นๆ อย่างในฉากที่เอลซาร้องเพลงนั้น ก็ต้องคัดสรรแอนิเมเทอร์ที่มีพื้นฐานทางด้านดนตรี ก็จะได้ผลลัพธ์ที่เกินคาด ใน Frozen II นี้มีเพลงใหม่ของเอลซาชื่อเพลง "Into The Unknown" ในขณะที่เอลซาร้องเพลงนั้น เธอก็สะบัดผมเปียของเธอขึ้นไปพาดไหล่ อย่างท่าทางเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในสคริปต์ แต่มาจากไอเดียของ เคลลี แมกคลานาแฮน หนึ่งในแอนิเมเทอร์ ผู้มีความรักในเสียงเพลง
ในขณะที่เรารื่นรมย์ไปกับภาพของตัวละครที่รักบนจอนั้น แต่ละวินาทีผ่านไป แต่ละนาทีผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่งานเบื้องหลังนั้นกว่าจะได้มาแต่ละวินาทีนั้น พวกเขาต้องทำงานกันเป็นวัน เอาแค่ตัวละครเปลี่ยนท่าทางแค่หนึ่งครั้ง มันก็เต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยของหลายๆ ข้อต่อบนร่างที่ต้องเคลื่อนไหว หรือแค่มือเพียงข้างเดียวก็ต้องใส่การเคลื่อนไหวในแต่ละนิ้ว โดยเฉพาะริมฝีปากก็มีการเคลื่อนไหวของรูปปากอีกมหาศาล
ในภาคนี้ทีมงานอยากให้สังเกตฉากที่เอลซาวิ่ง เพราะคราวนี้เธอจะวิ่งด้วยเท้าเปล่า ซึ่งทำให้การทำงานยากลำบากขึ้นอีกมาก เพราะทีมงานต้องทำการบ้านกันว่าจะทำให้เอลซาวิ่งอย่างไรให้ดูละเอียดสมจริงมากที่สุด ซึ่งแอนิเมเทอร์จะต้องลงลึกไปถึงการเคลื่อนไหวในแต่ละข้อต่อของร่างกาย ซึ่งในฉากวิ่งนี้จะมีการเคลื่อนไหวทั้งหมด 9 ข้อต่อ
ฉากตัวละครหันหน้า ที่เหล่าแอนิเมเทอร์เกรงกลัว
อีกจุดหนึ่งที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ คือ การพยายามแยกการเคลื่อนไหวของศีรษะและลูกตา ซึ่งคอมพิวเตอร์จะไม่เข้าใจถึงความแตกต่างในการเคลื่อนไหวนี้ ลองนึกภาพว่าถ้าลูกตาอยู่ตำแหน่งกลางเบ้าตาตลอดเวลาที่หันหน้า ตัวละครจะดูเหมือนซอมบี้ขึ้นมาทันที ถ้าปล่อยให้คอมพิวเตอร์คำนวณเองก็จะได้ภาพออกมาแบบนั้น แต่การจะแยกการเคลื่อนไหวออกจากกันก็เป็นงานที่ยากอีกเช่นกัน แอนิเมเทอร์หลายคน ก็ใช้วิธีการหลบเลี่ยงให้ตัวละครก้มหน้า หรือเงยหน้าซะ
อ่านแล้วเหนื่อยแทนเลยนะครับ ความยากลำบากเหล่านี้น่าจะอธิบายถึงข้อสงสัยของหลาย ๆ คนได้บ้างว่าทำไมการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันถึงใช้ทุนสร้างสูงมากมาย ทั้งที่ไม่ต้องจ้างนักแสดงค่าตัวแพงๆ มาร่วมงาน แอนิเมชันบางเรื่องก็ยังแพงกว่าหนังคนแสดงเสียด้วยซ้ำ อย่าง Tangled (2013) เป็นหนังแอนิเมชันที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดตลอดกาล ด้วยมูลค่าถึง 260 ล้านเหรียญ ส่วน Frozen ภาคแรกก็ใช้ไป 150 ล้าน ส่วน Frozen II นี้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขทุนสร้าง แต่ไม่น้อยกว่าภาคแรกอย่างแน่นอน
เช็ครอบฉายคลิกเลย >> https://bit.ly/37qyvYl
ตัวอย่างภาพยนตร์