จระเข้ใน The Pool คืองาน CG ฝีมือคนไทยในระดับโลก

Movie News26 กันยายน 2561

             อีกหนึ่งยอดฝีมือที่มาร่วมสร้างสรรค์งานเทคนิคพิเศษทุกประการใน The Pool นรก 6 เมตร ต้องยกเครดิตให้กับ Riff Studio โดยมี 2 หนุ่มที่มาควบคุมการผลิต คือตุลย์ วีรภัทร ชินะนาวิน และ จอน เฉลิมพงษ์ บรรพลา ที่มาร่วมมือกันรับหน้าที่ VFX Director ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งงานอันหนักหนาสาหัสในเรื่องนี้ที่ทั้งสองสตูดิโอต้องรับไม้ดูแลก็คือการสร้างจระเข้ ตัวละครสำคัญอีกหนึ่งตัวในเรื่องนี้ รวมไปถึงการทำให้ทุกแอ็คชั่นที่เหนือจริงให้สมจริงตามบทภาพยนตร์ โดยวิสูตร ย้ำชัดเจนว่า "หนังเรื่องนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง คือถ้า Riff Studio ไม่รับงานนี้ เคน ธีรเดชไม่รับเล่นเรื่องนี้ โปรเจ็กต์นี้ก็คงไม่ได้สร้าง เพราะผมมองไม่ออกว่างานมันจะออกมาดีอย่างที่คิดได้ยังไง"



           "ทาง Riff Studio เองก็ตอบโจทย์ได้อย่างที่เราวาง เวลาเราจะครีเอทสร้างภาพอะไรที่เป็นจริงไม่ได้ อย่างตัวจระเข้หรือการต่อสู้ระหว่างคนกับจระเข้ ในความเป็นจริงเราทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะธรรมชาติของจระเข้มันเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างรักสงบด้วยซ้ำ จระเข้จะไม่ค่อยยุ่งกับคนถึงเวลามันก็จะนอนเว้นเวลาที่เราเอาไม้ไปแหย่มัน มันถึงจะโกรธ จริงๆ มันไม่ใช่สัตว์ที่มีพื้นฐานการคุกคามเหมือนเสือหรือสัตว์อื่นๆ ฉะนั้นขั้นตอนของการที่จะทำจระเข้ให้เป็นจริงอย่างที่บทเขียน ก็ต้องมานั่งคุยกันเลยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง ซึ่งก็แบ่งออกมามี 3-4 วิธี อันแรกต้องมีจระเข้จริง ซึ่งเอาไว้ใช้ถ่ายอินเสิร์ต อันที่สองจระเข้ที่เป็นซีจีล้วนๆ อันนี้ก็เอาคนที่ใส่ชุดเขียวมาทำท่าทำทางไกด์ให้ดู อย่างที่สามก็ทำม็อคอัพที่เอาไว้ถ่ายเป็นส่วนๆ ส่วนการที่เราต้องสแกนเคน ธีรเดชทั้งตัวเพื่อเอามาใช้งาน อันนี้เป็นขั้นตอนที่บางสิ่งบางอย่างตัวละครไม่สามารถทำได้ในฉากนี้ จึงต้องครีเอทเป็นซีจีขึ้นมา แต่ก็คำนึงจากสรีระของเคนเป็นหลัก ถ้าเราดูเร็วๆเราจะดูไม่ออกเลยว่านี่เป็นฉากซีจี เช่น จระเข้กระโดดเข้ามางับแล้วเคนต้องเอามือกั้น มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอามือคนเข้าไป ฉะนั้นก็ต้องเอาภาพของซีจีเข้าไปช่วย"



            ความท้าทายสำคัญของทีม VFX Director ของ The Pool นรก 6 เมตร นั้นไม่ใช่เพียงเรื่องการจัดการให้จระเข้มาเป็นตัวละครที่สมจริง แต่ยังเป็นการเนรมิตซีนต่างๆ ที่พวกเขาเรียกผลงานเรื่องนี้ว่าเป็นหนังที่มี Full CG เกือบทั้งเรื่อง

ตุลย์ วีรภัทร : ในการทำงานซีจีเรื่องนี้เราจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนของ Pre-Production, Production และ Post-Production Pre-Pro ก็จะเป็นส่วนของการวางแผนต่างๆ มีสตอรี่บอร์ดและการทำกล้อง HTD มาดูกันก่อน เพื่อจะวางแผนว่าตรงไหนจะถ่ายจริง ตรงไหนถ่ายม็อคอัพ ตรงไหนจะใช้หุ่น ตรงไหนจะใช้สตั๊นท์ แล้วหน้าที่เราคือเริ่มไปหาเรฟเฟอเรนซ์จากจระเข้จริงก่อนที่จะเข้าสู่ส่วนของโปรดักชั่น พอมาส่วนของโปรดักชั่นเริ่มมาก็ต้องทำโมเดลจระเข้ โมเดลของสระว่ายน้ำ โมเดลของพี่เคนที่เป็น 3D ขึ้นมาด้วย ต้องไปสแกนพี่เคนเป็น 3D ขึ้นมา และมีส่วน Post-Pro ที่เป็นเลย์เอาท์ฟูลซีจี ก็จะมีเรื่องการนำฟุดเทจเพื่อมาแท็กกิ้ง ถัดจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการจัดแสง การที่ต้องมานั่งลบสลิง ลบเพลทลบกรีนสกรีนหรือมาเติมตรงนั้นตรงนี้ ซีจีทั่วไปก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน เรื่องนี้เราทำเหมือนจริงส่วนใหญ่เราก็จะไปถ่ายวีดีโอ หรือว่าสแกนสิ่งนั้นไปเลย เพราะเราก็อยากให้เป๊ะฟุดเทจบางอันเราใช้ซีจีทั้งหมดเลยก็มี เราต้องทำให้มันต่อเนื่องกัน งานปั้นก็จะมีความยากในเรื่องดีเทลก็ต้องละเอียดพอสมควร จระเข้มันจะมีชอตที่ต้องโคลสอัพมากๆ

ซึ่งแน่อนว่าจำนวนที่เราทำซีจีของเรื่องนี้เยอะครับ ทำไปทั้งหมดประมาณ 464 ชอต แต่ก็มีเพิ่มๆ เข้ามาผมจำได้ว่าเกือบ 500 ชอต เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำชอตซีจีเยอะมากๆ หนังไทยปกติทำอยู่ประมาณแค่ 100 ชอต

เรื่องนี้เกินมาเยอะมาก ถ้าเป็นหนังฝรั่งถือว่าเป็นหนังใหญ่เรื่องหนึ่งเลยนะ แต่มันอาจจะไม่ได้หวือหวา เพราะว่ามันเป็นหนังที่มีโลเกชั่นเดียว แต่จำนวนซีจีที่ใช้เยอะมาก ความที่เป็นโลเกชั่นเดียวตอนถ่ายทำมันเลยมีข้อบังคับบางอย่าง หรือลิมิตบางอย่างที่เราไม่สามารถไปทำตรงนั้นตรงนี้ได้ เราก็เลยต้องทำในเรื่องของซีจีเพิ่ม คือหนังเรื่องนี้เริ่มต้นตั้งแต่คุยโปรเจกต์จนถึงขั้นตอนุดท้ายในการทำงานจบรวมเวลาปีกว่าๆ แต่ว่าตอนที่ทำประมาณ 6-8 เดือน จระเข้ก็ใช้เวลาอยู่ในนั้นทั้งหมดแล้ว จระเข้ที่ออกมาในชอตก็น่าจะมากกว่า 150 ชอต ชอตไหนที่มีจระเข้ขึ้นมาก็จะถือว่าเป็นชอตเกรดเอของงานซีจี จะยากกว่าฉากทั่วไป เขาเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งเลยสำหรับเราเขาคือพระเอกของงานซีจีหรือวิช่วลเรื่องนี้เลยทีเดียว ตอนแรกคิดว่าจะเอาจระเข้จริงเข้ามาใช้ด้วย แต่พอรันถ่ายจริงเอามาใช้น้อยมากน่าจะแค่ 10% ของหนังที่เหลือเป็นจระเข้ซีจีหมดเลย


 


           ส่วนงานซีจีที่ต้องทำเพิ่มด้วยก็เขียนรายละเอียดทุกอย่างที่อยู่ในซีนทั้งท่อ กระถาง หรือเก้าอี้โซฟาแดงของพี่พิง คือทุกอย่างในซีน บางทีเราก็ต้องใช้ซีจีทั้งชอตเลย บางครั้งนักแสดงหมดคิวแล้ว แต่เรายังขาดเรื่องความต่อเนื่องของเรื่องอยู่ แล้วเราทำเกี่ยวกับแอ็คชั่นกราฟฟิคซีนความต่อเนื่องสำคัญมาก ฉะนั้นเราก็ต้องถ่ายใหม่แต่ไม่สามารถไปถ่ายที่สระว่ายน้ำเดิมได้ก็เลยต้องไปถ่ายที่เป็นห้องสตูดิโอ ที่เป็นกรีนสกรีนทั้งห้องเลย ก็ต้องมีพี่เคนคนเดียวที่เป็นคนจริงๆ แล้วที่เหลือก็เป็นซีจีทั้งหมดเลย พอเป็นซีจีทั้งหมดนั่นแหละคือก็จะมีความยากที่เพิ่มเข้ามา ในเรื่องของโมเดล ความละเอียดของโมเดล เรื่องการจัดแสง เรื่องการวางภาพซ้อนกัน การแมชต์ของแสง

จอน เฉลิมพงษ์ : จริงๆ ผมกับพีตุลย์จะช่วยดูด้วยกันว่าทุกฉากว่าควรเป็นยังไง ควรเป็นมุมกล้องนี้ เป็นแอ็คชั่นนี้ ส่วนใหญ่พี่ตุลย์จะดูเรื่องแอ็คติ้งของพี่เคนที่ทำเป็น 3D ขึ้นมาก่อน เป็นไกด์ให้พี่พิงดูก่อนถ่ายทำ ส่วนผมเองจะดูเรื่องการถ่ายทำว่าจะถ่ายยังไงให้มาทำต่อซีจีได้เพราะผมจะถนัดเรื่องฟุตเทจ ลบคนออก และให้คำปรึกษาในแง่ความเป็นไปได้ว่าแอ็คติ้งของดาราจะแมชต์ยังไงกับซีจี ส่วนใหญ่เราต้องทำฉากต่อสู้เป็น 3D ขึ้นมาก่อนถ่ายทำเพื่อให้พี่เคนจินตนาการได้ และให้พี่พิงเห็นภาพให้ทีมงานดูเพื่อช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ทีนี้หัวใจหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้คือต้องสร้างสัตว์ซีจีที่เป็นเรียลลิสติกจริงๆ ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้มีเนื้องานยากตั้งแต่งานโมเดลครับ เพราะเป็นสเปเชียลเอฟเฟ็กต์แบบสมจริงและก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่เราเห็นอยู่ว่ามีจริง โมเดลที่เขียนขึ้นปั้นขึ้นต้องเหมือนจริง แอนิเมชั่นก็ต้องเหมือนจริง เป็นลักษณะจระเข้ที่กัด ที่อ้าปาก หลับตา ทุกอย่างมันก็ต้องสมจริงมาก เพราะว่ามันไม่ได้เป็นหนังแฟนตาซีที่หลุดออกจากความจริงได้ ถ้ามองในเชิงเทคนิคคือต้องใช้ทุกอย่าง ตั้งแต่แอนิเมชั่น โมเดล การขึ้นโมเดลเพื่อทำเอฟเฟ็กต์ คือใช้ทุกศาสตร์ในการทำสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ เป็นหนังไทยที่ครบเครื่องมากกับงานวิช่วลเอฟเฟ็กต์ ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในหนังไทยเรา



           ยิ่งทุกซีนที่เป็นแอ็คติ้งของจระเข้ซึ่งต้องเขียนขึ้นบ่งบอกอารมณ์จระเข้ ว่ากำลังโกรธไม่พอใจ หรืออะไรต่างๆ ซึ่งยากมาก แล้วเราต้องสื่อสารให้ละเอียดถึงคนดูให้เข้าใจ เพราะถ้าคนดูไม่เชื่อไม่เห็นอารมณ์มันจะกลายเป็นหนังที่ไม่จริงไปเลย จระเข้ที่เป็นแมคคานิคเองที่วางแผนจะมาใช้ประกอบถ่ายทำด้วย ก็แทบจะไม่ใช้เลยเพราะว่าพอเราไปกองถ่ายจริง การทำงานของมันไม่ได้ดั่งใจเหมือนตอนที่เราซ้อม การงับของมันไม่แรงไม่สมจริงเท่าการใช้ซีจี เราก็เลยปรับใช้จระเข้แมคคานิคมาเป็นไกด์ในการถ่ายทำแล้วค่อยมาทำซีจีแทน ก็เพิ่มงานซีจีเข้าไปอีก

ลุ้น..ระทึก..ทุกนาที เมื่อนรกมีจริง "The Pool นรก 6 เมตร" 27 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

ตัวอย่างภาพยนตร์